วันพฤหัสบดีที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

การวิ่งเพื่อสุขภาพ
..........การวิ่งเพื่อสุขภาพต่างกับการวิ่งแข่งขัน เพราะเป็นการวิ่งเหยาะๆ ด้วยความเร็วระหว่างการเดินกับการวิ่งเร็ว การวิ่งเพื่อสุขภาพเป็นการออกกำลังกายแบบอากาศนิยม (แอโรบิค) ชนิดหนึ่งที่ทำได้ง่ายเพราะไม่มีเทคนิคที่ซับซ้อนและมีอันตรายน้อยเมื่อเทียบกับการเล่นกีฬาหรือการออกกำลังกายแบบอื่น การวิ่งเพื่อสุขภาพที่ปฏิบัติอย่างถูกต้องและเหมาะสมกับสภาพร่างกายจะส่งผลให้สมรรถภาพการรับออกซิเจนของร่างกายดีขึ้น เพราะทำให้หัวใจหลอดเลือดและปอดมีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางกายภาพและการทำงานจนสามารถรับและขนส่งออกซิเจนได้ดีขึ้น ขณะเดียวกันกล้ามเนื้อและอวัยวะอื่นก็พลอยแข็งแรงขึ้น นอกจากนั้นยังมีผลต่อจิตใจที่ทำให้ผู้วิ่งคลายความเคร่งเครียดทางจิตใจและมีอารมณ์ปลอดโปร่งขึ้นด้วย
อุปกรณ์การวิ่ง :
..........ในภูมิอากาศโดยเฉลี่ยของประเทศไทย เสื้อกางเกงที่สวมใส่เวลาวิ่งควรทำด้วยวัสดุที่ซับเหงื่อได้ดี เช่น ทำด้วยฝ้าย ควรเป็นเสื้อแขนสั้นหรือไม่มีแขน กางเกงไม่รัดแน่นที่รอบเอวและวงขามากเกินไป เป้ากางเกงหลวมแต่ไม่หย่อนการใช้ชุดวอร์มอาจทำได้ในตอนเริ่มวิ่งเมื่ออากาศหนาวรองเท้าวิ่งควรเป็นรองเท้าหุ้นส้นที่พอดีกับขนาดและรูปเท้า ไม่มีการกดหรือเสียดสีกับส่วนใดส่วนหนึ่งของเท้าจนรู้สึกเจ็บขณะวิ่ง ถ้าวิ่งบนพื้นแข็ง พื้นรองเท้าควรหนาและนุ่ม
สถานที่วิ่ง :
..........ควรมีพื้นเรียบ ไม่เป็นหลุมเป็นบ่อ ไม่เอียงข้างหนึ่งข้างใดอยู่ตลอดระยะทาง ระหว่างทางอาจมีเนินชันหรือทางลาดลงบ้างได้ แต่ไม่ควรชันมากเกินไป
เวลาวิ่ง :
..........เลือกเวลาที่สะดวกและสามารถทำเป็นประจำสม่ำเสมอได้แต่ต้องหลีกเลี่ยงการวิ่งหลังกินอาหารอิ่มใหม่ๆ และการวิ่งในอากาศร้อนจัด
หลักของการวิ่งเพื่อสุขภาพ :
  • ท่าวิ่ง :
..........ใช้ท่าวิ่งง่ายๆ ที่เป็นธรรมชาติไม่เกร็ง โดยส่วนใหญ่แล้วเวลาลงเท้าใช้ส้นเท้าสัมผัสพื้นก่อนจึงวางเท้าเต็มแล้วยกส้นเท้าขึ้น เข่าไม่ยกสูงมากและไม่เหยียดสุด ลำตัวและศีรษะตั้งตรงข้อศอกงอเล็กน้อย และกำมือหลวมๆ ในบางช่วงอาจเปลี่ยนท่าวิ่งเป็นลงปลายเท้าหรือเต็มฝ่าเท้า และยกเข่าสูงหรือแกว่างแขนมากขึ้นบ้างก็ได้ แต่ควรทำเป็นช่วงสั้นๆ
ความหนัก ความนาน และความบ่อยของการวิ่ง
..........ความหนัก (ความเร็ว) : ควรใช้ความเร็วที่ทำให้รู้สึกเหนื่อยจนต้องหายใจแรง แต่ไม่ถึงกับต้องหายใจทางปากหรือมีอาการหอบ เมื่อวิ่งไปแล้ว 4 – 5 นาที ควรมีเหงื่อออก (ยกเว้นในอากาศเย็นจัดอาจยังไม่มี) แต่สามารถวิ่งต่อไปได้เกิน 10 นาที ความเร็วนี้อาจใช้คงที่ตลอดระยะทางหรือจะวิ่งเร็วสลับช้าบ้างก็ได้ความนาน : แพทย์กีฬาทั่วโลกถือว่าการออกกำลังกายแบบแอโรบิคควรมีความนานติดต่อกันไปไม่น้อยกว่า 10 นาที จึงอาจถือได้ว่าการวิ่งเพื่อสุขภาพจะต้องวิ่งติดต่อกันไม่ต่ำกว่า 10 นาที แต่ทั้งนี้ต้องจัดให้สัมพันธ์กับความหนักและความบ่อยด้วยจึงจะเกิดผลในการเสริมสร้างความบ่อย : ผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์การกีฬาพบว่า การฝึกแบบแอโรบิคโดยปริมาณรวมต่อสัปดาห์เท่ากันการฝึกโดยใช้จำนวนครั้งมากกว่าให้ผลดีกว่า (เมื่อเปรียบเทียบกับการฝึกวันละ 10 นาที 6 ครั้งต่อสัปดาห์ กับการฝึกวันละ 30 นาที 2 ครั้งต่อสัปดาห์ พบว่าการฝึกวันละ 10 นาที 6 ครั้งต่อสัปดาห์ให้ผลเพิ่มสมรรถภาพแอโรบิคมากกว่า) ดังนั้น การกำหนดความบ่อยของการวิ่งเพื่อสุขภาพที่นิยมปฏิบัติกัน คือ อย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ และมีผู้วิ่งเพื่อสุขภาพจำนวนมากที่วิ่งทุกวันความบ่อยและความนานต่ำสุดและสูงสุดที่ได้ผลดีต่อสุขภาพสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการแข่งขัน คือ
ความบ่อย
(วันละครั้ง)
ต่ำสุด
(นาที/ครั้ง)
สูงสุด
(นาที/ครั้ง)
ทุกวัน
4 วัน/สัปดาห์
3 วัน/สัปดาห์
10
15
20
30
40
60
..........สำหรับนักวิ่งเพื่อสุขภาพที่ประสงค์จะเข้าแข่งขันวิ่งทางไกลระยะต่างๆ จะต้องวิ่งซ้อมนานกว่านี้ และต้องให้ได้ระยะทางรวมภายใน 1 สัปดาห์อย่างน้อย 2 – 3 เท่าของระยะทางที่จะเข้าแข่งขัน

  • การอบอุ่นร่างกาย (วอร์มอัพ) ก่อนวิ่งและการผ่อนคลายร่างกายหลังวิ่ง (คูลดาวน์) :
..........ก่อนการวิ่งและหลังการวิ่งทุกครั้งควรอบอุ่นร่างกายและผ่อนคลายร่างกายประมาณ 4 – 5 นาที การปฏิบัติ คือ วิ่งเหยาะด้วยความเร็วน้อยกว่าที่ใช้ในการวิ่งจริง และทำกายบริหารยืดกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของร่างกาย (ดูภาพประกอบ)
การเริ่มวิ่ง :
..........การวิ่งให้ได้ติดต่อกันโดยไม่หยุดถึง 10 นาที เป็นสิ่งที่ไม่ง่ายสำหรับผู้ที่ไม่ได้เล่นกีฬาหรือวิ่งเป็นประจำอยู่ก่อน ผู้ที่เพิ่มเริ่มวิ่งทุกคนจึงไม่ควรตั้งความหวังสำหรับการวิ่งครั้งแรกไว้ว่าจะวิ่งให้ได้ตลอดเกินกว่า 10 นาที โดยไม่ต้องสลับด้วยการเดิน การวิ่งสลับกับการเดินก้าวยาวๆ โดยไม่หยุดในการวิ่งในวันแรกๆ เป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะเป็นการผ่อนคลายร่างกายโดยที่ไม่เกินความเครียดมากจนเกินไปแต่ในวันต่อๆ ไปควรเพิ่มระยะเวลาของการวิ่งให้มากขึ้นและลดระยะเวลาของการเดินให้น้อยลง จนในที่สุดสามารถวิ่งเหยาะได้ติดต่อกันไปเกินกว่า 10 นาที โดยไม่ต้องสลับด้วยการเดิน นั่นหมายความว่าบุคคลผู้นั้นได้เป็นนักวิ่งเพื่อสุขภาพแล้วระยะเวลาจากการวิ่งในวันแรกจนถึงวันที่สามารถวิ่งติดต่อกันได้ตลอด 10 นาที สำหรับผู้ที่ไม่มีปัญหาทางสุขภาพไม่ควรเกิน 3 – 4 สัปดาห์ ระยะนี้อาจถือได้ว่าเป็นระยะเวลาของการเริ่มวิ่ง ต่อจากนั้นจึงเข้าสู่ระยะของการเพิ่มปริมาณการวิ่ง
การเพิ่มปริมาณการวิ่ง :
..........ผู้วิ่งทุกคนอาจเพิ่มปริมาณการวิ่งขึ้นไปได้อีกโดยการเพิ่มความเร็ว หรือความนานหรือความบ่อย หรือหลายอย่างประกอบกัน แต่จะเพิ่มขึ้นไปได้มากน้อยเพียงไรขึ้นกับความต้องการของแต่ละคนและความจำกัดทางธรรมชาติของร่างกาย หลักทั่วไป คือเพิ่มด้วยเวลาก่อนจนถึงเวลาที่ตนสามารถอุทิศให้ได้ เช่น 30 นาที จากนั้นจึงเพิ่มความหนัก (ความเร็ว) ขึ้นในการนี้ ระยะทางจะเพิ่มขึ้นเองโดยไม่ต้องกำหนดการเพิ่มปริมาณด้วยระยะทาง
อาการที่แสดงว่าควรหยุดวิ่ง :
..........บางครั้งร่างกายอาจอ่อนแอลงชั่วคราว เช่น ภายหลังท้องเสียหรืออดนอน การวิ่งอย่างธรรมดาที่เคยอาจกลายเป็นหนักเกินไป หรือในผู้สูงอายุที่เพิ่มความหนักของโปรแกรมฝึกซ้อมเร็วเกินไป หรือวิ่งในขณะอากาศร้อนจัดและอบอ้าวมากและไม่ได้ทดแทนน้ำและเกลือแร่พอเพียงอาจเกิดอาการเป็น สัญญาณเตือนอันตรายซึ่งได้แก่
  • เวียนศีรษะ คลื่นไส้ หรือหน้ามืดเป็นลม
  • รู้สึกคล้ายหายใจไม่ทันหรือหายใจไม่ออก
  • ใจสั่น แน่น เจ็บตื้อบริเวณหน้าอก
  • ลมออกหู หูตึงกว่าปกติ
  • การเคลื่อนไหวร่างกายควบคุมไม่ได้

..........เมื่อมี สัญญาณเตือนอันตราย อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นขณะวิ่ง ให้ชะลอความเร็วในการวิ่งลง หากอาการหายไปอย่างรวดเร็ว อาจวิ่งต่อไปอีกระยะหนึ่งด้วยความเร็วที่ชะลอไว้แล้วนั้น แต่หากชะลอความเร็วแล้วยังมีอาการอยู่อีกให้เปลี่ยนเป็นเดิน ถ้าเดินแล้วยังมีอาการอยู่ ต้องหยุดนั่งหรือนอนราบจนกว่าอาการจะหายไป ในกรณีนี้จำเป็นต้องหยุดวิ่งต่อไป และงดการใช้แรงกายมากในวันนั้น ในทุกรายที่มี สัญญาณเตือนอันตราย เกิดจากการวิ่งถึงแม้จะหายไปได้ด้วยการปฏิบัติดังกล่าวข้างต้น การวิ่งในวันต่อไปจำเป็นต้องลดความเร็วและระยะทางลง แต่ถ้าอาการที่เป็นสัญญาณเตือนอันตรายไม่หายไปแม้พักแล้วเป็นเวลานานต้องรีบปรึกษาแพทย์


  



การปั่นจักรยานเพื่อการลดน้ำหนัก
                 จักรยานคือพาหนะที่เหมาะกับยุคปัจจุบันเป็นอย่างมาก ไหนจะ สะดวก ประหยัดค่าเดินทาง แถมยังได้สุขภาพที่ดีอีกด้วย แหม ไม่เรียกว่า คุ้ม จะให้เรียกว่าอะไร แต่สังคมไทยในทุกวันนี้ยังไม่ค่อยเห็นใครเอาจักรยานออกมาปั่นเพื่อออกกำลังกายเท่าไรเลย หรือแม้แต่การใช้เป็นพาหนะเดินทางระยะใกล้ ๆ การปั่นจักรยานนั้นมีประโยชน์มากมาย ทั้งทำให้กล้ามเนื้อขาเราแข็ง โดยเฉพาะส่วนของกล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้และหลัง จะเพิ่มกำลังมีความแข็งแรงมากขึ้น เป็นการยืดเส้นยืดสายได้ดีเลยทีเดียว โดย เฉพาะบริเวณเอว กล้ามเนื้อสะโพก ทำให้ป้องกันปัญหาปวดกล้ามเนื้อขาได้ สำหรับคนที่อ้วน การปั่นจักรยาน ยังช่วยในการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย ทำให้ลดอัตราการสะสมของไขมันได้ทุกส่วนโดย เฉพาะ พุงกะทิที่ไม่พึงประสงค์ของท่าน และลดไขมันที่ผนังหลอดเลือดได้เป็นอย่างดี หากเราหั่นมาออกกำลังกายด้วยการปั่นจักรยานเป็นประจำ จะทำให้หัวใจเราแข็งแรง กล้ามเนื้อหัวใจทำงานดีขึ้นอีกด้วย ก็จะทำให้หัวใจแข็งแรง กล้ามเนื้อหัวใจทำงานได้ดีขึ้น

           การปั่นจักรยานถือว่าเป็นการออกกำลังกายแบบแอโรบิก ที่ช่วยให้เลือดภายในร่างกายเราไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงร่างกาย ซึ่งนั่นก็เท่ากับช่วยให้หัวใจของเราแข็งแรงไปด้วย และที่สำคัญ คือ ตะกรันไขมันที่จับอยู่ตามเส้นเลือดของเราก็จะพลอยจะถูกกำจัดออกไปด้วย จึงเป็นวิธีในการป้องกันภาวะเส้นเลือดตีบตันได้อีกทางหนึ่ง และส่วนอวัยวะอื่น ๆ ของร่างกายเรา ก็ไม่ต้องเป็นกังวลว่าจะไม่ได้ทั่วทั้งร่างกายทุก ๆ ส่วน เพราะเราได้ขยับร่างกายเกือบทุกส่วนอยู่แล้ว และยังส่งผลดีโดยเฉพาะปอด

          การปั่นจักรยานไป ไม่ได้ช่วยให้ร่างกายเราแข็งแรงอย่างเดียว เวลาที่เราปั่นไป มองดูทิวศ์ทัศน์รอบ ๆ ตัว ท่ามกลางอากาศที่บริสุทธิ์ ในยามเช้าก็ดี จะทำให้เรารู้สึกผ่อนคลาย สบายใจ สูดอากาศให้เต็มปอด จะทำให้กระบวนการหายใจแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนเพื่อนำไปใช้สร้างเม็ดเลือดขาวในกระแสเลือดได้ดีขึ้น และส่งผลให้เราอารมณ์ดี จากการเพิ่มของระดับฮอร์โมนแอนเดอร์ฟินอีกด้วย


การปั่นจักรยานเพื่อลดความอ้วน



การปั่นจักรยานให้ผลลัพธ์ที่ดีมาก เพราะเป็นเหมือนการออกกำลังกายแบบแอโรบิก หากทำอย่่างเป็นประจำ อย่างค่อยเป็นค่อยไปอย่างต่อเนื่อง จะช่วยให้ร่างกายเราสามารถเผาผลาญไขมันได้เป็นอย่างดี เพราะการปั่นจักรยานจะส่งผลดีต่อช่วงขา รวมถึงหน้าท้อง และก้น และหากมีการใช้อุปกรณ์บางอย่างเพิ่ม จะช่วยบริหารแขนได้ด้วยเพียงแค่มีแท่งยกน้ำ หนัก 1 คู่ ที่หนักไม่มากก็เพียงพอแล้ว

       การปั่นจักรยานนั้นมีข้อดีมากกว่าการวิ่ง เพราะการวิ่งจะใช้กำลังส่วนข้อเท้าอย่างมาก และยังไปถึง หัวเข่า และหลัง คุณอาจเริ่มจากการปั่นจักรยานแบบช้า ๆ ไปก่อน โดยเราจะยังไม่เพิ่มแรงเสียดทาน แล้วค่อยเพิ่มความเร็วในการปั่นและเพิ่มอุปกรณ์เพิ่มน้ำหนักที่แป้นถีบมากขึ้นให้ดูเหมือนปั่นขึ้นเขา และการออกกำลังกายทุกประเภท เคล็ดลับที่จะบริหารร่างกายให้ได้ผลดีที่สุดคือ ทำทุกวันบ่อย พยายามทำทุกวัน เป็นประจำ ถึงแม้จะใช้เวลาไม่มากก็ตาม

ลดความอ้วน ด้วยวิธีการปั่นจักรยาน มีดงนี้

1. เราต้องอบอุ่นร่างกายซะก่อนเพื่อให้ร่างกายได้รับรู้ว่า เราจะทำอะไรกับเขา

2. ปรับ อานที่นั่งให้สูงเพียงพอที่จะเหยียดขาเวลาปั่นได้ เมื่อวางเท้าบนแป้นให้ขนานกับพื้นและหัวเข่าจะต้องทำมุม 10-15 องศาถ้าที่นั่งนั้นอยู่ในระดับที่ต่ำจนเกินไป จะทำให้เรานั้นรู้สึกเหนื่อยเร็วมากขึ้น และทำให้ส่วนของหัวเข่าต้อง ออกแรงมากกว่าปกติ และถ้าอยู่สูงเกินไป ก็จะทำให้ต้องเคลื่อนไหวส่วนของอุ้งเชิงกราน ทำให้หลังส่วนล่างทำงานและต้องรับน้ำหนักมากที่จับ (หรือที่เรียกว่า แฮนด์) สามารถปรับระดับได้เช่นกัน ขั้นแรกเริ่มจากระดับสูงก่อน วางมือทั้งสองข้างขนานกันบนที่จับจากนั้นค่อยลดระดับลงเพื่อเพิ่มความ โค้งให้กับแผ่นหลัง

3. ความเร็วและแรงในการปั่น ถ้าคุณพึ่งเริ่มต้นยังไม่ชิน ให้เริ่มจากการปั่นแบบธรรมดาที่ความเร็ว 60 รอบต่อนาที (1 รอบต่อวินาที) ปั่นต่อเนื่องประมาณ 10 นาที จากนั้นเริ่มปรับให้ชันมากขึ้น แล้วปั่นอีก 10 นาที สลับกลับไปที่แบธรรมดาอีก 10 นาที ทำแบบนี้ใน 1 อาทิตย์ให้ทำ 3 ครั้ง 3 วัน เป็นเวลา 3 อาทิตย์ ก่อนที่จะเริ่มโปรแกรมถัดไปและเมื่อเราเริ่มจะชำนาญมากขึ้นแล้ว แนะนำให้เริ่มปั่น 80-90 รอบต่อนาที สลับกับแบบธรรมดา 15 นาที และแบบชัน 15 นาที และแบบธรรมดา 15 นาที ทำ 3-4 ครั้งต่ออาทิตย์ ทำแบบนี้อย่างน้อย ๆ 3 อาทิตย์ก่อนที่จะเข้าโปรแกรมที่สูงขึ้นต่อไป หลังจากเราโปรกับระดับ ต่าง ๆ แล้ว ลองเปิดเพลงเพื่อกำหนดความเร็วในการปั่นแบบธรรมดาและแบบชัน ในขั้นนี้อาจสลับด้วยการเดินได้และเพิ่มเวลาขึ้นอีก 2 อาทิตย์ (การเปิดเพลงนอกจากช่วยจับเวลาได้แล้วยังช่วยให้เราเพลินในขณะออกกำลังกายด้วย)

หลายคนสงสัยว่าควรไปปั่นจักรยานที่ไหนดี




          ถ้าขี่จักรยานบนทางราบด้วยความเร็ว 20 กม./ชม. ถือว่าช้าจะไม่เกิดสภาพแอโรบิคที่ต้องการ อย่าลืมว่าการที่เราขี่จักรยานเป็นการออกกำลังที่ตัวจักรยาน มีส่วนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพมาก ถ้าขี่ช้า ๆ ตัวจักรยานจะเป็นตัวช่วยเราซะส่วนใหญ่ ไม่เกิดประโยชน์ต่อหัวใจ หรือจะมีก็มีน้อย แต่ผู้ที่รุ้จริงด้านนี้บอกว่าถ้าเราขี่จักรยานด้วยขนาดความเร็วกว่า 30-32 กม./ชม. ก็จะเปรียบเทียบได้เท่ากับการวิ่งความเร็วประมาณ 3 นาทีกว่า ๆ ต่อ 1 กิโลเมตร (อันนี้เป็นการวิ่งที่เร็วมากสำหรับนักวิ่งส่วนใหญ่ในบ้านเรา ซึ่งน้อยคนนักที่จะทำได้

   สรุปคือ เราควรปั่นจักรยานให้อยู่ในช่วงความเร็วที่ประมาณ 25 ถึง 28 กม./ชม. จึงจะได้ออกแรง สมกับที่เราตั้งใจมาออกกำลังกัน ความเร็วที่พูดถึงในตอนนี้ เป็นความเร็วโดยเฉลี่ยที่ชาวต่างชาติเขาทำได้กัน แต่สำหรับคนไทยเราโดยเฉพาะคนที่ไม่ได้ออกกำลังมานาน ๆ อย่าได้นำข้อมูลนี้เป็นบรรทัดฐานในการฝึกเป็นอันขาด ทางที่ดีก็ควรจะลองขี่ไป แล้วลองจับชีพจรของเาดูว่าเราได้แค่ไหนจึงจะได้ 75-80% ของอัตราหัวใจเต้นสูงสุดของตัวเอง ดังได้กล่าวไว้แล้วในตอนต้นๆ



วิธีการขี่จักรยานที่้ถูกต้อง





     พวกที่เริ่มขี่จักรยานใหม่ ๆ มักจะเข้าใจผิด และพยายามใช้เกียร์สูงสำหรับการปั่น โดยส่วนใหญ่ไม่ค่อยจะพิจารณาว่าทางที่เราขี่ไปจะเป็นอย่างไร วิธีที่ถูกเราควรเลือกเกียร์ต่ำ ๆ ไว้ก่อน และปั่นให้จักรยานนั้นวิ่งไปเรื่อย ๆ อย่างราบเรียบ โดยถีบซอยขาด้วยความถี่อยู่ที่ประมาณ 70 รอบต่อนาที พยายามถีบให้ขาซอยคงที่ ขนาดนี้ ถ้ามีทางขึ้นเนินลงเนินหรือมีลมต้าน ก็ค่อยสับเกียร์ต่ำ เกียร์สูง ตามไปอีกที คือเราต้องพยายามปรับการซอยให้คงที่อย่างที่ว่าไว้ ไอ้รอบที่เราซอยขาคงที่ขนาดนี้ นักปั่นต่างชาติเขาจะเรียกว่า เคเดนซ์หรือ cadence แปลตรง ๆ ตัวว่า จังหวะเคาะตอนเล่นดนตรี และสำหรับการปั่นจักรยานคงหมายถึงการทำอะไรให้เป็นจังหวะคงที่สม่ำเสมอ สำหรับพวกเราพยายามซอยขาให้คงที่ด้วยความถี่ประมาณ 70 รอบต่อนาที ก็โอเคแล้วครับ

     ตอนเราเริ่มใหม่ ๆ ให้ปั่นไปสัก 20 นาทีก็พอแล้ว หลังจากนั้นพักจนชีพจรกลับมาเป็นปกติ แล้วก็เริ่มปั่นใหม่ จนคุณรู้สึกเหนื่อยแบบสบาย ๆ คือเหนื่อย แบบไม่ใช่เหนื่อยจนเดินยังไม่ไหว หัวใจแทบจะเต้นออกมานอกอกอะไรประมาณนี้ เอาแค่เหนื่อยไม่มากก็เป็นพอ

ระยะเวลาในการปั่น

    เราพยายามให้เหมือนกับการคาร์ดิโอทั่วไป อยู่ที่ ครั้งไม่ต่ำกว่า 40 นาที 3-4 วัน ต่อสัปดาห์การขี่จักรยานโดยเฉลี่ยจะใช้พลังงานประมาณ 300 แคลอรี/ชม. ซึ่งการใช้พลังงานขนาดนี้ถ้าเราสามารถทำได้อย่างสม่ำเสมอก็จะสามารถลดความอ้วนได้เป็นอย่างดีเลย






แหล่งที่มา
http://www.thaiherbtherapy.com/Forum/index.php?topic=42.0

ประโยชน์ของการเล่นวอลเลย์บอล


การเล่นกีฬาเป็นการออกกำลังกายชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันว่าการออกกำลังกายเป็นยาขนานวิเศษ
 ดังคำกล่าวที่ว่า"กีฬา กีฬา เป็นยาพิเศษ"วอลเลย์บอลเป็นกีฬาที่ทำให้ผู้เล่นเกิดประโยชน์ดังนี้
1. วอลเลย์บอลเป็นกีฬาที่ฝึกหัดเล่นให้เป็นได้ง่ายและเล่นได้ทุกเพศทุกวัย เมื่อเล่นวอลเลย์บอลเป็นแล้ว จะทำให้ผู้เล่นสามารถเล่นกีฬาได้นานกว่ากีฬาบางประเภท ซึ่งคุ้มกับที่ได้ฝึกฝนมาแม้แต่สตรีที่มีบุตร
แล้วหากมีร่างกายแข็งแรงก็สามารถเข้าร่วมการแข่งขันได้เป็นอย่างดี
2. วอลเลย์บอลเป็นกีฬาประเภททีม จึงต้องมีการฝึกซ้อมเพื่อให้การเล่นในทีมมีความสัมพันธ์และรักใคร่ปรองดองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หากทีมใดขาดความสามัคคีแล้ว เมื่อลงแข่งขันย่อมจะมีชัยชนะได้ยาก ผลของการเล่นกีฬาประเภทนี้จึงสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ให้มีนิสัยรักใคร่สามัคคีกันระหว่างหมู่คณะมากยิ่งขึ้น
3. วอลเลย์บอลเป็นกีฬาที่ช่วยฝึกฝนให้ผู้เล่นมีไหวพริบที่ชาญฉลาดและแก้ปัญหาอย่างฉับพลันทันที เพราะการเล่นวอลเลย์บอลนั้นผู้เล่นจะต้องเคลื่อนไหวร่างกายอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งต้องมีไหวพริบที่ดีสามารถตัดสินใจและแก้ปัญหาเฉพาะหน้าต่าง ๆ ได้จึงจะทำให้มีชัยชนะในการเล่น
4. การเล่นวอลเลย์บอลเป็นการส่งเสริมและฝึกให้ผู้เล่นมีจิตใจเยือกเย็น สุขุม รอบคอบ อารมณ์มั่นคง มีสมาธิดี มีความเชื่อมั่นในตัวเอง เพราะผู้เล่นที่อารมณ์ร้อน มุทะลุ ดุดัน เอาแต่ใจตนเอง จะทำให้การเล่นผิดพลาดบ่อย ๆ ถ้าเป็นการแข่งขันก็จะแพ้ฝ่ายตรงข้ามได้ง่าย ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้ล้วนแต่มีประโยชน์ต่อตัวผู้เล่นวอลเลย์บอลที่จะนำมาประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันให้เกิด ประโยชน์ต่อตนเองและสังคมอีกด้วย
5. วอลเลย์บอลเป็นกีฬาที่เล่นได้โดยไม่จำกัดเวลา ถ้าหากผู้เล่นรู้จักการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ซึ่งอาจจะเล่นตอนเช้า สาย บ่าย เย็นหรือแม้แต่ในเวลากลางคืนก็ได้ถ้ามีแสงสว่างเพียงพอ และเล่นได้ทั้งในที่ร่มหรือกลางแจ้ง
6. การเล่นวอลเลย์บอล ผู้เล่นต่างก็อยู่ในแดนของตนเองและมีตาข่ายขึงกั้นกลางสนาม ทำให้ไม่มีโอกาสที่จะปะทะกันระหว่างผู้เล่นทั้งสองฝ่าย จึงไม่ก่อให้เกิดการทะเลาะวิวาทกันขึ้น
7. วอลเลย์บอลเป็นกีฬาที่ช่วยส่งเสริมบุคลิกภาพของผู้เล่นอย่างหนึ่ง เพราะผู้เล่นจะต้องถูกฝึกให้มีระเบียบมีวินัย มีเหตุมีผล รู้จักการเป็นผู้นำผู้ตาม และมีความรับผิดชอบในหน้าที่ของตน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นการปลูกฝังนิสัยอันมีผลที่จะนำมาใช้ในชีวิตประจำวันด้วย
8. วอลเลย์บอลเป็นกีฬาที่มีกฎกติกา ผู้เล่นต้องเคารพและปฏิบัติตามกฎกติกาการเล่น ดังนั้นการเล่นวอลเลย์บอล
ย่อมช่วยสอนให้ผู้เล่นรู้จักความยุติธรรม มีความอดทนอดกลั้น รู้จักเคารพสิทธิของผู้อื่น
9. วอลเลย์บอลเป็นกีฬาประเภทหนึ่ง ที่ช่วยเสริมสร้างสมรรถภาพทางด้านร่างกายให้มีความสมบูรณ์ แข็งแรง เพราะผู้เล่นจะต้องฝึกให้ร่างกายแข็งแรง มีความอดทน มีความคล่องแคล่วว่องไว มีพลังและความเร็ว เมื่อร่างกายได้ออกกำลังกายแล้วยังช่วยให้ระบบต่างๆ ภายในร่างกายได้ทำงานประสานสัมพันธ์กันเป็นอย่างดีและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เมื่อร่างกายแข็งแรงก็จะช่วยเพิ่มความสามารถของร่างกายให้มีความต้านทานได้ดีด้วย
10. กีฬาวอลเลย์บอลเหมือนกับกีฬาประเภทอื่น ๆ ที่สร้างความมีน้ำใจนักกีฬา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การรู้จักแพ้ ชนะและอภัย นอกจากนี้ยังเป็นเครื่องมือในการเป็นสื่อกลางก่อให้เกิดความสนิทสนมคุ้นเคยและมีสัมพันธ์ไมตรีอันดีต่อกัน ทั้งระหว่างภายในประเทศและระหว่างประเทศได้อย่างดี
11. ปัจจุบันผู้เล่นวอลเลย์บอลที่มีความสามารถสูง ยังมีสิทธิ์ได้เข้ามาศึกษาต่อในระดับสูงบางสาขา บางสถาบัน ทั้งสถานการศึกษาของรัฐและเอกชน นอกจากนี้ยังมีหลายหน่วยงานทารับบุคคลที่เป็นนักกีฬาวอลเลย์บอลเข้าทำงาน เพราะวอลเลย์บอลกำลังเป็นกีฬาที่นิยมของวงการทั่วไปและมีการแข่งขันกันอยู่เป็นประจำ







แหล่งที่มา